ประวัติวัดท่าไม้

  • ตั้งอยู่เลขที่ 51 หมู่ 11 ถ.เศรษฐกิจ1 ซอย8 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
  • สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัด จำนวน 6 ไร่
  • วัดนี้ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2520
  • ได้รับพระราชทาน วิสุงคามมะสีมา เมื่อปี พุทธศักราช 2537
  • ทรัพย์สินของวัดมีที่ดินตั้งวัด 6 ไร่ จากผู้มีจิตศรัทธาถวายและซื้อเพิ่มบ้าง ทิศเหนือติดแม่น้ำท่าจีน
            นับย้อนไปเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๐
มีพระภิกษุหนุ่มอายุราว ๒๔ ปี แบกกลดสะพายบาตร ยืนสงบอยู่ ทราบว่า ท่านเป็นพระธุดงค์ชื่อ ยอดชาย ฉายา อุปติสฺโส พรรษา ๑ วัดหนองโตนด(พันท้าว) ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ต้องการหาสถานที่เพื่อปฏิบัติสมณธรรมคุณทุยดีใจและได้ชี้นำบริเวณปากคลองคอกหมู ริมแม่น้ำท่าจีน อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้นนัก ให้เป็นที่พักซึ่งวิเวกร่มรื่นสงบ อากาศดีไม่มีคนพลุกพล่าน คุณทุยได้ขอปวารณาตัวเพื่ออุปถัมภ์ท่านตลอดไป แล้วชักชวนญาติสนิทมิตรสหายช่วยกันสร้างที่พักสงฆ์

ด้วยจริยาวัตร และสามัคคีธรรมร่วมกันของพระภิกขุกับชาวบ้าน ประสงค์จะสร้างเป็นวัด ให้ถาวรวัฒนาสืบไปจึงขออนุญาตสร้างวัด ซึ่งต้องรวบรวมเงินยืมจากคหบดีใกล้เคียง มาเป็นทุนจดทะเบียนในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ และเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๐ จนได้รับใบอนุญาตสร้างวัดจากกรมการศาสนา ให้นามว่า "สำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษี(ท่าไม้)" ตั้งแต่นั้นมา

         ท่านพระอาจารย์ยอด
ประกอบด้วยบารมี สามารถสร้างศรัทธาและพัฒนาสำนักสงฆ์ให้เจริญทั้งวัตถุธรรมและศีลธรรม ตลอดจนสาธารณประโยชน์ อาทิ ศาลาท่า, บ่อสูบน้ำบาดาล จ่ายไปยังหมู่บ้านหมู่ ๑๑ , ติดตั้งไฟฟ้า, สร้างศาลาการเปรียญ เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นใช้ทางเข้าออกสำนัก เพียงทางเรือทางเดียว ท่านจึงดำเนินการขอถนน เส้นทางจากวัดท่ากระบือมายังสำนักสงฆ์ ระยะทางยาวประมาณ ๕ กิโลเมตรเศษ

ต้นฤดูหนาว คืนวันพุธก่อนวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นวันลอยกระทง ท่านพระอาจารย์ยอดแจ้งแก่คุณทวี สมท่า ชาวบ้านอ้อมใหญ่ศิษย์ผู้ดูแลใกล้ชิดว่า "ขอฝากวัดด้วย" รุ่งขึ้นท่านได้จาริกหายไป ไม่กลับคืนอีกเลย รวมเวลา ๔ ปี ของท่านพระอาจารย์ยอดชาย อุปติสฺโส

          วัดทิ้งร้างห่างหลายปี มีบางท่านได้เสนอให้ยุบเลิกวัดเสีย
แต่ท่านเจ้าคณะตำบลท่าไม้ขณะนั้นคือ ท่านพระครูธรรมรัตน์ วัดนางสาว ได้เล็งเห็นประโยชน์แก่มหาชนรุ่นหลังให้คงสภาพสำนักสงฆ์ต่อไป และมอบให้ ท่านพระอาจารย์ประสิทธิ์ กิตฺติภทฺโท อายุ ๒๓ ปี พรรษา ๒ นักธรรมโท มาเป็นผู้ปกครองดูแล ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๗ ร่วมกับ พระวิรัตน์ ตนฺติปาโล อายุ ๒๗ ปี พรรษา ๕ นักธรรมเอก จากวัดนางสาวเช่นกัน

คุณแม่จินตนา แสงวิรุณ ได้นิมนต์ให้พระอาจารย์สุรสิงห์ สุรสีโล มาพักรักษาตัวที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ระหว่างวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐ จนหายอาพาธกลับไปเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ศกเดียวกัน

เมื่อถึงกลางปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้ริเริ่มโครงการสร้างอุโบสถ รวมกับทั้งอาราธนา ท่านพระอาจารย์สุรสิงห์ สุรสีโล พร้อมคณะ จากวัดสุมนาวาส เขากะโหลก ต.ปากน้ำ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นลูกหลานของญาติโยมในพื้นที่ มาสังกัดสำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยเหลือในกิจการต่างๆ และเชิญ คุณนิวัติ โศภารักษ์ เป็นประธานสร้างอุโบสถ

ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒ ได้ยกฐานะของสำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษี ขึ้นเป็น "วัดท่าไม้" ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ

เนื่องจากเป็นการสมควรที่วัดท่าไม้จะได้มีเจ้าอาวาส ท่านเจ้าคณะตำบลท่าไม้ในขณะนั้นคือ ท่านพระครูสาครธรรมรัตน์ วัดสุวรรณรัตนาราม ได้อาราธนาท่านพระครูโสภณธรรมสาคร เจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบนวัดอ้อมน้อย มาประชุมร่วมกับพระภิกษุสามเฌรและทายกทายิกาของวัดท่าไม้ สรรหาพระภิกษุที่มีคุณสมบัติตามกฎมหาเถรสมาคม นำเสนอพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร วัดเจษฎาราม ให้พระอาจารย์สุรสิงห์ สุรสีโล เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓

ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างอุโบสถในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ โดยคุณพ่ออ่อน สุขวัฒก์ และคุณแม่ป้อม สุทธิบุตร เป็นประธาน มี คุณนุกูล-คุณนวลจันทร์ สุขวัฒก์ เป็นผู้อุปถัมภ์ร่วมกับประชาชน ได้ทุนดำเนินการขั้นต้นรวม ๘๔๐,๐๐๐ บาท รับเหมาก่อสร้างโดยคุณสุกิจ แม้นเหมือน ตามแบบแปลนของกรมศิลปากร เป็นอุโบสถภายในกว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตร มีมุขหน้าและมุขหลังรวมอีก ๖ เมตร มี ๖ หน้าต่าง มี ๔ ประตู ใช้เสาเข็มยาว ๖ เมตร ๓๐๐ ต้น เทคานคอดิน ๒ ชั้น หล่อเสา ๑๖ ต้น และเทพื้นภายในทั้งหมด สำเร็จในปีเดียวกัน และท่านพระครูศีลสาครวิมล ได้สร้างถาวรวัตถุไว้คู่พระศาสนามากมายจวบจบวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

ถาวรวัตถุเหล่านี้มีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากมีน้ำท่วมเพราะเหตุที่พื้นที่บริเวณวัดต่ำกว่าเขื่อนกั้นน้ำ จนกระทั่งเมื่อพระครูศีลสาครวิมล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ได้มรณภาพลง เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครจึงแต่งตั้งให้พระครูปลัดอุเทน สิริสาโรย้ายจากวัดท่ากระบือมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบจนถึงปัจจุบัน

ถาวรวัตถุที่ยังหลงเหลือจากอดีตถึงปัจจุบันคงมีเพียงแต่พระอุโบสถที่มีพระพุทธชินราชประดิษฐานเป็นพระประธานเท่านั้น ส่วนถาวรวัตถุอื่นได้เปลี่ยนแปรสภาพไปตามกาลเวลาและสถานการณ์

  ** ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ที่ท่านพระครูปลัดอุเทน สิริสาโร ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีการเปลี่ยนแปลงถาวรวัตถุภายในวัดท่าไม้ โดยใช้ระยะเวลาในการบูรณะเพียงแค่ 1 ปี 2 เดือน 26 วัน ดังนี้

ถาวรวัตถุที่สำคัญภายในวัดท่าไม้ ณ ปัจจุบัน
        1. พระอุโบสถ มีพระพุทธชินราชจำลองหน้าตัก ๖๙ นิ้ว เป็นพระประธานในพระอุโบสถ รวมทั้งมีพระเชียงแสน พระสุโขทัย และพระอู่ทอง ร่วมประดิษฐานในพระอุโบสถด้วย
        2. ศาลาการเปรียญ มีพระพุทธหิรัญราช เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ปางประทานพร เป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ
        3. ศาลาชินบัญชร เป็นสถานที่รองรับพุทธศาสนิกชนในการปฏิบัติธรรมรักษาศีลเจริญสติปัฏฐานสี่
        4. ศาลาบูรพาจารย์ เป็นศาลาที่ประดิษฐานพระเกจิดังในเมืองไทย ซึ่งทางวัดท่าไม้ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ 4 รูป มี
     4.1 หลวงปู่ทวด วัดช้างให้
     4.2 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
     4.3 พระไพโรจน์วุฒาจารย์ (รุ่ง ติสสโร) เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน
    4.4 หลวงพ่อยี
        5. ศาลาเทวาพิทักษ์ เป็นที่ประดิษฐานพระราหูเป็นศาลาประกอบพิธีกรรมการสวดดาวนพเคราะห์ย้ายรวมถึงใช้เป็นศาลาเอนกประสงค์ต่างๆ
        6. ศาลาพระธรรมจักรแก้ว
        7. ศาลาเจ้าแม่กวนอิม เป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเชื้อสายจีนได้กราบสักการบูชา
        8. ศาลาพระแม่สิริมหามายา
        9. หอฉัน
      10. หอกลาง
      11. หอระฆัง
      12. หอวัตถุมงคลและของที่ระลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น